วันอังคารที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2552

ทัศนะอิสลามต่องานศิลป์และดนตรี.




อิสลามเป็นศาสนาที่ชื่นชมความสวยงามและเรียกร้องให้ทุกๆ อย่างไปสู่ความสวยงาม ดังที่ศาสดามุฮัมมัด ได้ทรงตรัสไว้ว่า "แท้จริงพระองค์นั้นทรงสง่างามยิ่ง และพระองค์อัลลอหทรงโปรดปรานความสวยงาม "ศิลปะคือการสร้างสรรค์ในสิ่งสวยงามซึ่งไม่ขัดต่ออิสลาม

อย่างไรก็ดี อิสลามเป็นศาสนาที่ให้ความ สำคัญด้านศีลธรรมมากกว่าด้านความสวยงาม ประเด็นนี้มิได้หมายความว่าอิสลามต่อต้านงานศิลป์ แต่อิสลามเห็นว่าความสวยงามนั้นย่อมขึ้นอยู่กับศีลธรรม นี่คือทัศนะหลักของอิสลามที่มีต่อศิลปะในทุกๆ แขนง จึงมีมาตรฐานในอิสลามเกี่ยวกับงานศิลป์ทุกแขนงกล่าวคือ "สิ่งที่ถูกต้องเป็นสิ่งที่ดี และสิ่งที่ชั่วร้ายเป็นสิ่งที่ผิด"

ในคัมภีร์อัลกุรอานมีหลายโองการที่กล่าวถึงความสวยงามในสากลจักรวาลและความสมบูรณ์ของการสร้าง ซึ่งมีปรากฏอยู่ในซูเราะหฺ อัลฮิจญเราะฮ์ โองการที่ 16 ความว่า "และโดยแน่แท้ เราให้มีหมู่ดวงดาวในท้องฟ้า และเราได้ประดับมันให้สวยงามแก่บรรดาผู้เฝ้ามอง"และในซูเราะหฺ อัลนะหฺล โองการที่ 6 ความว่า "และในตัวมันมีความสง่างามสำหรับพวกเจ้าขณะที่นำมันกลับจากทุ่งหญ้าและขณะที่นำมันออกไปเลี้ยง"และในซูเราะหฺฟุศศิลัต โองการที่ 12 ความว่า "ดังนั้นพระองค์ทรงสร้างมันสำเร็จเป็นชั้นฟ้าทั้งเจ็ดในระยะเวลา 2 วัน และทรงกำหนดในทุกๆ ชั้นฟ้าหน้าที่ของมัน และได้ประดับท้องฟ้าแห่งโลกนี้ด้วยดวงดาวทั้งหลาย และเป็นการป้องกันนั้นคือการกำหนดแห่งพระผู้ทรงอำนาจและผู้ทรงรอบรู้ยิ่ง"ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าอิสลามปฏิเสธงานศิลป์ซึ่งแสดงออกถึงความสวยงามแม้แต่น้อย แต่ทว่าถ้าสิ่งเหล่านั้นขัดต่อศีลธรรมอิสลามก็จะปฏิเสธและไม่ยอมรับเช่นกัน

เมื่อเรียบเรียงจากสิ่งที่ได้กล่าวมาแล้วจะเห็นว่า หากเป้าหมายของงานศิลป์คือการส่งเสริมสติปัญญา และความรู้สึกที่ละเอียดอ่อน อิสลามก็ไม่ขัดข้อง อย่างไรก็ดีหากศิลปะและงานศิลป์เหล่านั้นอยู่นอกขอบเขตหรือเป้าหมายดังกล่าว กลับไม่ก่อให้เกิดการสร้างสรรค์ใดๆ ไปในทางที่ดี และในทางตรงกันข้าม กลับทำลายและขัดต่อศีลธรรม อิสลามก็ยอมรับไม่ได้อย่างแน่นอน

หากดนตรีและบทเพลงที่มีเนื้อร้องที่ดีละเอียดอ่อน มีทำนองเพราะพริ้งมีจังหวะที่นุ่มนวล มีเสียงร้องที่ไพเราะ อิสลามก็ไม่ปฏิเสธตราบใดที่อยู่ในขอบเขตของศีลธรรม เว้นแต่จะเป็นบทเพลงที่ส่งเสริมให้ผู้คนกระทำการใดๆ อันขัดต่อศีลธรรม หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ผู้ใดก็ตามที่แสวงหาศิลปะ เพื่อประเทืองความรู้สึกด้านจิตใจ อิสลามเห็นว่าเป็นเรื่องที่น่าชมเชยยิ่ง พระศาสดาไม่ได้ห้ามการร้องเพลง การเล่นดนตรีตราบใดที่ไม่ขัดต่อศีลธรรม ท่านศาสดาทรงชมเชยเสียงของ อบีมูซา อัลอัชอารี่ ซึ่งมีเสียงที่ไพเราะมาก และพระองค์ทรงเลือกจากบรรดาสาวกผู้ที่มีเสียงไพเราะให้ทำหน้าที่เป็นผู้อะซานในการเชิญชวนให้มาละหมาดเมื่อได้เวลา ครั้งหนึ่งในวันอีด ท่านอบูบักร ได้เข้าไปหาพระนางอะอีชะหฺ บุตรสาวและเป็นภรรยาของศาสดา ในขณะนั้นมีหญิงรับใช้สองคนกำลังร้องเพลงและตีกลอง ท่านอบูบักรได้ห้ามการกระทำดังกล่าว แต่ท่านพระศาสดาได้คัดค้านการกระทำของอบูบักร โดยกล่าวว่า "จงปล่อยให้นางทั้งสองร้องเพลงไปเถิดเพราะวันอีด (วันแห่งการรื่นเริง) "

นอกจากนี้ยังมีรายงานอื่นอีกมากที่ท่านศาสดาไม่ห้ามการร้องเพลงซึ่งระบุได้ว่า การร้องรำทำเพลงตราบใดที่ไม่ขัดต่อศีลธรรมนั้นเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้

ส่วนการเต้นรำ ศาสนาอิสลามได้แยกการเต้นรำระหว่างผู้หญิงออกจากผู้ชาย แต่ทว่าอิสลามก็ไม่ขัดข้องหากการเป็นการเต้นระบำพื้นเมือง พระศาสดาทรงอนุญาตให้พระนางอะอีชะหฺดูการเต้นรำของชาวฮาบาชี่ (ชาวเอธิโอเปีย) เนื่องในงานวันอีด การที่ผู้หญิงเต้นรำต่อหน้าผู้หญิงนั้นเป็นสิ่งที่สามารถกระทำได้ แต่ห้ามเต้นต่อหน้าผู้ชาย ทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเย้ายวนอันจะนำไปสู่พฤติกรรมที่ขัดต่อศีลธรรม



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น