วันอังคารที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2552

อิสลามส่งเสริมความคิดรุนแรงหรือไม่








อิสลามเป็นศาสนาที่สอนให้มีความกรุณาปราณี และส่งเสริมให้มีความยุติธรรม และสันติภาพ นอกจากนั้นอิสลามยังพิทักษ์รักษาเสรีภาพ เกียรติยศและความมีศักดิ์ศรี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่เป็นเพียงคำขวัญแต่เป็นหลักการที่อิสลามยึดเหนี่ยวอยู่ด้วย

พระผู้เป็นเจ้าทรงได้ส่งศาสดามุฮัมมัด ดังปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอานซูเราะฮฺอัลอันบิยาอฺ โองการที่107 ความว่า "และเราไม่ได้ส่งเจ้ามาเพื่ออื่นใด นอกจากเพื่อเป็นความเมตตาแก่ประชาชาติทั้งหลาย" และพระศาสดา ทรงตรัสเช่นเดียวกันว่า "ตัวฉันเองได้ถูกส่งมาเพื่อทำให้จรรยาบันที่สูงส่งนั้นสมบูรณ์ยิ่ง"

และอิสลามยังอนุญาตให้มนุษย์สามารถเลือกเชื่อได้ รวมทั้งเรื่องของความเชื่อในพระผู้เป็นเจ้าหรือปฏิเสธการเชื่อก็ตาม ดังมีหลักฐานปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอานซูเราะฮฺอัลมักกะฮฺฟี โองการที่ 29 ความว่า "และจงกล่าวเถิดมุฮัมมัด สัจธรรมนั้นมาจากพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้น ผู้ใดประสงค์ก็จงศรัทธาและผู้ใดประสงค์ก็จงปฏิเสธ แท้จริง เราได้เตรียมไฟนรกไว้สำหรับพวกอธรรม ซึ่งกำแพงของมันล้อมรอบพวกเขา และถ้าพวกเขาร้องขอความช่วยเหลือก็จะถูกช่วยเหลือด้วยน้ำเสมือนน้ำทองแดงเดือดลวกใบหน้า มันเป็นน้ำดื่มที่ชั่วช้าและเป็นที่พำนักที่เลวร้าย"

การชักจูงให้นับถือศาสนาอิสลามนั้นเป็นเรื่องของการชักจูงจิตใจคน โดยการเรียกร้องอย่างนิ่มนวลและด้วยการสนทนาอย่างฉันท์มิตร ไม่ใช่วิธีการบังคับขู่เข็นใดๆ ในหลักการศรัทธาของอิสลามได้เรียกร้องให้บรรดาชาวมุสลิมรักษาความยุติธรรม และเสรีภาพ โดยห้ามสิ่งอยุติธรรมใดๆ ตลอดจนการทารุณ การฉ้อราษฎร์บังหลวง การกระทำการใดๆ ที่ชั่วร้ายอันเป็นการส่งเสริมความชั่วให้อยู่ในระดับเดียวกับความดีดังปรากฏในอัลกุรอาน ซูเราะฮฺฟุซซิลัต โองการที่ 34 ความว่า " ความดีและความชั่วนั้นหาเท่าเทียมกันไม่ เจ้าจงขับไล่ (ความชั่ว) ด้วยสิ่งที่มันดีกว่าแล้วเมื่อนั้นผู้ที่อยู่ระหว่างเจ้ากับระหว่างเขาเคย เป็นอริกันก็จะกลับกลายเป็นเยี่ยงมิตรที่สนิทกัน"

เมื่อครั้งที่พระศาสดามุฮัมมัด ได้รับชัยชนะเหนือประชาชนที่นครเมกมักกะฮฺนั้น พระองค์ทรงให้อภัยแก่บุคคลเหล่านั้น แม้ว่าพวกเขาเคยติดตามประหัตประหาร พระองค์ก็ตาม โดยได้ทรงกล่าวว่า "ท่านทั้งหลายจงมีสิทธิเสรีภาพอย่างสมบูรณ์"

มีการเปรียบเทียบกันระหว่างความศรัทธาในศาสนาอิสลามและสันติภาพ ในภาษาอาหรับทั้งสองคำคือ อิสลาม และสลาม แปลว่า สันติภาพและมาจากแหล่งกำเนิดเดียวกัน พระผู้เป็นเจ้าได้ทรงกล่าวถึงพระองค์เองในคัมภีร์อัลกุรอานว่า สันติภาพเมื่อบรรดามุสลิมทักทายกันก็จะทักทายกันด้วยการให้สลาม (อัสลามุอะลัยกุม แปลว่าขอความสันติจงประสบแด่ท่าน) เสมือนเป็นการเตือนอยู่เสมอว่า ความสันตินั้นเป็นหลักการหนึ่งที่สำคัญของอิสลามที่จะต้องเก็บรักษาไว้ในจิตใจของมุสลิมทุกคน มุสลิมทุกคนเมื่อละหมาดวันละ 5 เวลา ก็จะจบการละหมาดลงด้วยการให้สลามโดยการหันหน้าไปทางขวา และหันหน้าไปทางซ้ายพร้อมกับกล่าวสลาม (ความสันติ)

จากข้อมูลที่ได้กล่าวมาข้างต้นเห็นได้ว่า อิสลามเป็นศาสนาที่รักความสันติ โดยไม่เปิดช่องให้ใช้ความรุนแรง ความบ้าระห่ำ การก่อการร้าย หรือการโจมตีบุคคลหรือทรัพย์สินของผู้อื่นไม่ว่าจะด้วยวิธีใด ก็ตาม คำสั่งสอนและหลักการของอิสลามมุ่งที่จะพิทักษ์รักษาสิทธิมนุษยชนซึ่งหมายรวมถึงสิทธิในชีวิต ครอบครัว ความเชื่อ ความคิด และทรัพย์สิน หลักการศรัทธาในอิสลามห้ามไม่ให้มีการทำร้ายผู้อื่น ซึ่งการทำร้ายผู้อื่นนั้นเปรียบเสมือนการทำร้ายมนุษยชาติ ซึ่งมีหลักฐานปรากฏในคัมภีร์อัลกุรอาน ซูเราะฮฺมาอีดะฮฺ โองการที่ 34 ความว่า แท้จริงผู้ใดฆ่าชีวิตหนึ่งโดยมิใช่ทดแทนอีกชีวิตหนึ่ง หรือมิใช่เนื่องจากบ่อนทำลายในแผ่นดินแล้ว ก็ประหนึ่งว่าเขาได้ฆ่ามนุษย์ทั้งมวล"

ดังนั้นปัจเจกชนจึงเป็นเรื่องของมนุษยธรรมและความห่วงใยของศาสนาอิสลามในเรื่องการพิทักษ์รักษามนุษยธรรม จึงปรากฏอยู่ในการที่มนุษย์คนหนึ่งให้ความเคารพต่อมนุษย์อีกคนหนึ่งโดยการเคารพถึงเสรีภาพ ความมีศักดิ์ศรี และสิทธิมนุษยชนของเขา พระศาสดา ได้ทรงตรัสไว้ตอนหนึ่งว่า "มุสลิมนั้นห้ามที่จะมีการนองเลือด ลักทรัพย์ หรือทำลายเกียรติภูมิของมุสลิมด้วยกัน" นอกจากนั้นพระศาสดายังได้ทรงตรัสอีกว่า "ผู้ใดที่ทำลายล้างผู้ซึ่งนับถือพระผู้เป็นเจ้า จะไม่ได้รับการให้อภัยในเรื่องของการทำร้ายนั้นในวันพิพากษา"

ศาสนาอิสลามได้เรียกร้องให้ทุกๆ ประชาชาติอยู่ร่วมกันด้วยสันติวิธี อีกทั้งให้มุสลิมปฏิบัติต่อผู้ที่ไม่ได้เป็นมุสลิม ด้วยความยุติธรรม ดังมีหลักฐานปรากฏใน ซูเราะฮฺที่ 60 โองการอัลกุรอานที่ 8 ความว่า "พระองค์อัลลอฮฺ มิได้ทรงห้ามพวกเจ้าเกี่ยวกับบรรดาผู้ที่มิได้ต่อต้านพวกเจ้าในเรื่องศาสนา และพวกเขามิได้ขับไล่พวกเจ้าออกจากบ้านเรือนของพวกเจ้า ในการที่พวกเจ้าจะทำความดีแก่พวกเขา และให้ความยุติธรรมแก่พวกเขา แท้จริงอัลลอฮฺทรงรักผู้ที่มีความยุติธรรม"

ความรับผิดชอบที่จะรักษาสมาชิกของประชาคมใดๆ เป็นความรับผิดชอบของทุกคนในประชาคมนั้นๆ การรับผิดชอบร่วมกันจึงเป็นหนทางเดียวที่จะให้เกิดความมั่นคง และเสถียรภาพ เพื่อที่จะไม่ให้มีการโกงกินกัน มีอันตรายมาคุกคาม และเพื่อไม่ให้เกิดความเสื่อมทรามลง ในอีกตอนหนึ่งพระศาสดา ได้ทรงเปรียบเทียบพวกเราทุกคนเสมือนกับบุคคลที่นั่งอยู่เต็มเรือ โดยมีคนจำนวนหนึ่งอยู่บนดาดฟ้าของเรือ ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งอยู่ภายในเรือลำนั้น เมื่อคนที่อยู่ในเรือต้องการน้ำที่จะดื่ม จึงขึ้นไปหาคนที่อยู่บนดาดฟ้าแล้วบอกว่า เขาสามารถที่จะหาน้ำดื่มได้โดยการเจาะรูที่ท้องเรือ ซึ่งในการกระทำเช่นนั้น เขาไม่ต้องการที่จะทำลายบุคคลที่อยู่ข้างบน ดังนั้น หากบุคคลที่อยู่บนดาดฟ้าอนุญาตให้เจาะรูที่ท้องเรือได้ทุกคนก็จะต้องจมน้ำตายหมด

แปลโดยสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงไคโร จากหนังสือ "คำชี้แจงข้อเท็จจริงในอิสลาม"
ของ ศ.ดร.มะฮฺมูด ฮัมดี ซักซูก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศาสนสมบัติแห่งสาธารณรัฐอาหรับอียิปต์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น